ออกแบบ

โลกการออกแบบเครื่องประดับระดับประเทศ

หากพูดถึงเวทีการออกแบบบ้านเราอาจเห็นการประกวดแฟชั่นเสื้อผ้าเป็นส่วนใหญ่ หากอีกเวทีที่สำคัญไม่แพ้กันคือการออกแบบเครื่องประดับ ที่ไทยเราติดอันดับสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของประเทศ

สะดุดตาด้วยประกายจากเข็มกลัด ที่ได้จากการนำโลหะเงินชุบ 3 สี ทอง, ทองคำขาว และแบล็คลอเดียม มาบิดเป็นรูปทรงแปลกตา ดูทันสมัยไปในที ยิ่งได้นายแบบมาดเท่อย่าง หลุย สก็อตต์ มาเป็นผู้สวมใส่ ก็ยิ่งช่วยให้ผลงานดูโดดเด่นยิ่งขึ้น

นี่เป็นฝีมือการออกแบบของ สุพัจนา ลิ่มวงศ์ ที่คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในโครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับครั้งที่ 7 ของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ และเป็นหนึ่งในผลงานที่ถูกนำไปพัฒนาและผลิตจำหน่ายจริง เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยสู่ตลาดโลก

เครื่องประดับก็ไม่ได้มีแต่เพชรพลอยอย่างเดียวหรอกนะคะ เพราะอย่างพี่ออมก็ประยุกต์ใช้ผ้าไหมไทยมาทำเป็นเครื่องประดับด้วย รวมถึงการใส่อะไรไทยๆ ลงไปในงานออกแบบ อย่างผลงานออกแบบชิ้นนี้ที่ใช้ชื่อว่า ถ้วยเดียวกัน ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากน้ำพริก

การนำเรื่องราวจากสิ่งของในชีวิตประจำวัน เป็นแรงบันดาลใจสร้างเรื่องราวให้งานออกแบบ ไม่เพียงได้ชิ้นงานที่น่าสนใจ และมีความหมาย หากยังเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เพิ่มคุณค่าให้ผลงานเป็นมากกว่าเครื่องประดับ และแนวคิด สุพัจนา ใช้พัฒนาผลงานของตัวเองตลอดมา

ความยากของงานออกแบบไม่เพียงขึ้นอยู่กับการสร้างคุณค่าให้ผลงาน หากโจทย์ที่สำคัญที่สุดทำอย่างไรให้ดึงดูดใจผู้สวมใส่ และต้องอาศัยความรู้เรื่องคุณสมบัติของอัญมณีแต่ละประเภท รวมทั้งความละเอียดแม่นยำเพราะหากคลาดเคลื่อนแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้ เครื่องประดับชิ้นดูด้อยค่า

เครื่องประดับฝีมือคนไทยถือเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกติด 1 ใน 5 ของประเทศ หากอุปสรรคในขณะนี้คือยังขาดการพัฒนาด้านดีไซน์และรูปแบบให้เหมาะสมกับตลาดแฟชั่น

งานออกแบบเครื่องประดับของไทยมีจุดแข็งเรื่องแรงงานราคาถูก และแหล่งวัตถุดิบคุณภาพดี โดยเฉพาะพลอยสีที่เป็นอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น โดยปัจจุบันนี้อัญมณีในการผลิตเครื่องประดับนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และทวีปแอฟริกา

แม้ศาสตร์การออกแบบเครื่องประดับในประเทศไทยอาจจำกัดอยู่เพียงคนเฉพาะกลุ่ม หากการเปิดเวทีให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือ เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้วงการออกแบบเครื่องประดับในบ้านเราตื่นตัวมากขึ้น และเตรียมความพร้อมเพื่อแข่งขัน และแลกเปลี่ยนทางฝีมือกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *